มัทฉะกับชาเขียวต่างกันอย่างไร? ประโยชน์ โทษ อันไหนดีกว่ากัน
หลายๆคนที่ชอบดื่มชาเขียวอาจจะเคยสงสัยเวลาเดินเข้าร้านคาเฟ่เพื่อจะเข้าไปสั่งชาเขียวสุดโปรด แต่ก็ต้องสะดุดกับป้ายเมนูชาเขียวที่มีทั้งชาเขียวและมัทฉะ หรือบางร้านที่มีแค่เมนูชาเขียวก็เกิดสงสัยว่าแล้วที่เราสั่งมาดื่มอยู่มันคือชาเขียวหรือว่ามัทฉะ มันคืออะไรกันแน่ เป็นอย่างเดียวกันหรือเปล่า มีกี่ประเภท แล้วมันแตกต่างกันอย่างไร วันนี้เราจะมาคลายข้อสงสัยรวมถึงประโยชน์และข้อควรระวังในการดื่มชาเขียว ก่อนเราจะมาแยกความต่างของชาเขียวกับมัทฉะ
ต้องบอกก่อนว่าเกรดตัวใบชามีหลักๆคือ Loose Leaf Tea หรือชาเต็มใบและ Tea Bags หรือชาซอง ชาเขียวหรือว่า Green Tea โดยทั่วไปเราอาจจะเคยเห็นกันในลักษณะใบชาที่หั่นเป็นเศษหยาบๆบรรจุอยู่ใน Tea Bags ถุงจิ๋วเอามาแช่ในแก้ว เทน้ำร้อนแล้วรอ 1-4 นาทีดื่ม และที่บรรจุเป็นห่อ/กระป๋องใช้ช้อนตวงตักใส่ถุงกรองชา เทน้ำร้อนแล้วชักไปชักมา แล้วชงใส่นมข้นหวาน พวกนี้จะเป็นชาเกรด Tea Bags จะเป็นพวกเศษใบชาหักที่เหลือจากการคัดเกรดจากชาเต็มใบ อาจมีการปรุงแต่งเพิ่มเติมแล้วมาบรรจุห่อหรือกระป๋องขาย เห็นได้ตามร้านกาแฟโบราณ และคาเฟ่บางแห่ง ส่วนชาเต็มใบจะเป็นชาคุณภาพสูง ผ่านการคัดมาอย่างดี ไม่มีแตกหัก นำมาผ่านกรรมวิธีผลิตต่างๆ ชงกับน้ำร้อนดื่ม อาจไม่ค่อยได้เห็นตามร้านคาเฟ่ทั่วไปนัก มักจะมีชงขายอยู่ตามคาเฟ่ชา Specialty
ชาเขียว คืออะไร
ชาเขียวในความหมายทั่วไปจะหมายถึงชาเขียวจำพวกที่บรรจุห่อหรือกระป๋องขาย ต้องชงด้วยวิธีการใช้ถุงกรองชา แช่ชาไว้และชักไปชักมา ซึ่งรสชาติเพียวๆ มีกลิ่นหอมเพราะมีการแต่งกลิ่น และใส่สีเพิ่มเติม ปกติจะนิยมนำมาชงใส่นม ส่วนชาเขียวที่เฉพาะเจาะจงจะเป็นจำพวก Loose Leaf หรือชาเต็มใบ ชาทุกชนิดนั้นถ้าแบ่งตามกรรมวิธีผลิตแล้ว หลักๆเลยจะมี 1. ชาไม่หมัก เช่น ชาเขียว ชาขาว 2. ชากึ่งหมัก เช่น ชาอู่หลง และ 3. ชาหมัก เช่น ชาแดง ชาดำ ชาเขียวนั้นคือชาไม่หมัก มักมีสีเขียวสดไปจนถึงเหลืองเขียว มีรสชาติหวานอ่อน รสอูมามิชัดเจน ฝาดเล็กน้อย ไม่ขม นำมาชงน้ำร้อนดื่มได้หลายครั้ง ไม่สามารถชงดื่มกับนมได้ ยกเว้นมัทฉะ
การหมักในที่นี้คือ Oxidation เป็นทำให้ใบชาช้ำด้วยวิธีต่างๆและเอาไปสัมผัสกับอากาศให้สารในใบชาทำปฏิกิริยากับอากาศด้วยเอนไซม์ในใบชาแล้วเกิดการหมักขึ้น ทำให้ใบชาเปลี่ยนสี กลิ่น และรสชาติ ชาเขียวนั้นเมื่อเก็บมาจากต้น หลีกเลี่ยงการทำให้ใบช้ำและนำมาผ่านความร้อนเพื่อหยุดการทำงานของเอนไซม์ในใบชาทันที จึงไม่มีการ Oxidation หรือการหมักเกิดขึ้น และผ่านอีก 2-3 กระบวนการออกมาเป็นใบชาที่แห้งสนิท พร้อมคัดบรรจุขาย
ชาเขียว มีกี่ประเภท
สำหรับชาเขียวนั้นมีต้นกำเนิดมาจากประเทศจีนเป็นวัฒนธรรมชาสืบต่อกันมาอย่างยาวนานในหลายๆประเทศ แต่เราจะมาว่ากันถึงชาเขียวญี่ปุ่นล้วนๆ ที่พัฒนามาจากจีนจนกลายเป็นวัฒนธรรมชาญี่ปุ่นที่โด่งดังระดับโลกเป็นที่นิยมกันแพร่หลายในฐานะเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ แบ่งออกเป็น 4 ประเภทหลักๆดังนี้
1. เกียวคุโระ (Gyokuro)
เกียวคุโระ คือราชาแห่งชาเขียว พิถีพิถันทุกขั้นตอนตั้งแต่ก่อนปลูกจนถึงมือผู้บริโภค เก็บเกี่ยวจากยอดใบชาชั้นดี ปลูกแบบคลุมผ้ากันแสงเพื่อให้ใบเร่งการผลิตคลอโรฟิลล์ ทำให้ใบมีสีเขียวสดขึ้น และเร่งการผลิตกรดอะมิโนแอล-ธีอะนีน (L-theanine) ให้มากขึ้น ซึ่งเป็นสารที่ให้รสชาติอูมามิ ทำให้เกียวคุโระนั้นรสชาติอร่อยกลมกล่อมมากๆ ยกระดับความอูมามิชัดเจน มีกระบวนการผลิต นึ่ง – นวด – ทำให้แห้ง เป็นชาระดับสูง ผลิตได้ไม่มาก มีราคาแพง
2. เซนฉะ (Sencha)
เซนฉะ คือชาเขียวที่คนญี่ปุ่นนิยมดื่มกันมากที่สุดกว่า 80 % ของทั้งประเทศ คำว่า”ชาเขียว”โดยทั่วๆไปที่ไม่ได้ระบุเจาะจง สำหรับคนญี่ปุ่นจะหมายถึง เซนฉะ เป็นชาเขียวที่ปลูกให้โดนแสงอาทิตย์ตามปกติ ไม่คลุมแสง กรรมวิธีผลิตเหมือนกับเกียวคุโระ มีรสชาตินุ่มลึก อูมามิที่เป็นเอกลักษณ์ สดชื่น มีความหวานชาและขมปลายทิ้งไว้ในลำคอ
3. มัทฉะ (Matcha)
มัทฉะ เป็นชาเขียวที่มีความแตกต่างจากชาใบตัวอื่นๆเพราะมีลักษณะเป็นผงละเอียดเหมือนผงแป้ง คนไทยนิยมอย่างมากสวนทางกับคนญี่ปุ่นที่ไม่ได้มีร้านมัทฉะอยู่ทุกหนทุกแห่งเหมือนในไทย เป็นชาปลูกคลุมแสงและกรรมวิธีผลิตเหมือนเกียวคุโระ ต่างกันตรงที่ไม่มีการนวด เมื่อทำให้แห้งเสร็จก็จะนำมาดึงก้านและเส้นกลางใบออก เหลือแต่ใบเขียวๆที่เรียกว่าเทนฉะ (Tencha) แล้วจึงนำเทนฉะมาผ่านกระบวนการให้ความร้อนตามแต่สูตรการผลิตของแต่ละไร่ ก่อนจะนำไปบดออกมาเป็นผงแล้วจึงถูกเรียกว่ามัทฉะ มีรสชาติเข้มข้น หอมนอล มีความขมฝาดเล็กน้อย ส่วนโทนรสชาติจะอยู่ที่การให้ความร้อนก่อนบด มีตั้งแต่โทนถั่วคั่ว โทนสาหร่าย และโทนกลาง
4. บันฉะ (Bancha)
บันฉะ เป็นชาที่ผลิตจากใบชาประเภทอื่นที่ไม่ได้มาตรฐานเช่น ก้านและเศษใบจากเซนฉะ และเก็บเกี่ยวในครั้งที่ 3-4 ของปี ซึ่งจะมีสารแทนนิน (Tannin) เยอะ คือสารที่ให้ความฝาด มีรสฝาดกว่าชาชนิดอื่น และไม่ได้มีกลิ่นหอมเท่าชาประเภทอื่นนัก จึงมีราคาถูก ดื่มประจำวันได้ง่ายๆ คาเฟอีนต่ำ และก็มีการนำมาดัดแปลงเป็นชาอื่นๆอีก เช่น ชาโฮจิฉะ (Houjicha) อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับโฮจิฉะที่นี่ ซึ่งเป็นชาที่นำไปให้ความร้อนสูง จนเกิดกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์มากๆ เป็นกลิ่นคั่วไฟ หรือดัดแปลงเป็น ชาเก็นไมฉะ (Genmaicha) เป็นชาข้าวคั่ว จากการคั่วข้าวคั่วผสมกับใบชา (อาจเป็นบันฉะหรือเซนฉะก็ได้) เกิดเป็นชากลิ่นหอมข้าวคั่ว หอมเป็นเอกลักษณ์มากๆ และจากการดัดแปลงนี้ทำให้ชาทั้ง 2 มีคาเฟอีนน้อยลงไปอีก ทำให้ดื่มง่าย เด็กและผู้สูงอายุดื่มได้
มัทฉะ คืออะไร
มัทฉะ คือชาเขียวชนิดหนึ่งและเป็นชนิดเดียวที่มีลักษณะเป็นผงละเอียดเหมือนแป้ง มีขั้นตอนการผลิตที่ซับซ้อนกว่าชาเขียวทั่วไปและพิถีพิถันตั้งแต่ปลูกไปจนถึงมือผู้บริโภค วิธีการชงก็จะแตกต่างจากชาชนิดอื่นที่อาจจะต้องใช้แปรงตีชา (Chasen) และถ้วยตีชา (Chawan) ต้องใช้ความพิถีพิถัน ประณีต ตั้งใจและใจเย็น จึงได้เกิดวัฒนธรรมพิธีชงชาของคนญี่ปุ่นเพื่อต้อนรับแขกผู้มาเยือน ด้วยความที่เป็นผง มัทฉะจึงสามารถนำมาใช้ทำอาหารหรือขนมได้หลากหลาย คนไทยนิยมนำมาชงดื่มกับนม
มัทฉะ มีกี่ประเภท
ประเภทของมัทฉะจะถูกแบ่งออกเป็นเกรดกว้างๆ 2 เกรด คือเกรดสำหรับพิธีชงชาและเกรดสำหรับทำอาหาร เรื่องรสชาติจะมีความแตกต่างกันชัดเจน ในแต่ละเกรดก็มีแตกแยกย่อยไปอีกเป็นระดับความเข้ม ระดับความเบาบาง
1. เกรดพิธีชงชา (Ceremonial Grade)
มัทฉะเกรดนี้จะให้รสชาติที่ละเอียดอ่อน มีความหอมชาและอูมามิที่ชัดเจน เบาบาง มีความหวานเบาๆจากตัวชา ไม่มีความขมฝาดอยู่เลย คนญี่ปุ่นนิยมนำมาใช้ในพิธีชงชาตามวัฒนธรรมดั้งเดิม จะชงด้วยน้ำร้อนดื่มไม่มีการปรุงรสใดๆ ไม่นิยมนำไปทำขนมหรืออาหาร รวมถึงชงกับนม เพราะจะทำให้รสชาติชาถูกวัตถุดิบอื่นๆกลบหมดไม่มีความขมฝาดเข้ามาช่วย มีคาเฟอีนสูง อีกทั้งมีราคาแพงมาก หากนำมาชงเป็นลาเต้จะทำให้มีต้นทุนสูงมากๆ
2. เกรดสำหรับทำอาหาร (Culinary Grade)
เป็นเกรดใช้สำหรับทำอาหารหลากหลายเช่น ลาเต้ สมูทตี้ อาหาร ขนม ไอศกรีม เกรดนี้จะเกรดรองลงมาจากพิธีการ รสชาติจะมีความเข้ม มีความฝาดมากขึ้น เวลานำไปทำอาหารจึงไม่ค่อยถูกวัตถุดิบอื่นๆกลบ หากชงดื่มเพียวๆจะรู้สึกถึงความเข้มของชามัทฉะมากขึ้น ใครที่ชอบความเข้มที่มีออกรสขมหน่อยๆก็สามารถนำไปชงดื่มเพียวๆได้ หรือจะชงนมเป็นลาเต้ก็อร่อย มีคาเฟอีนสูงแต่ก็ไม่สูงเท่าเกรดพิธีการ
มัทฉะกับชาเขียวต่างกันอย่างไร?
ต่างกันตรงที่มัทฉะเป็นชาเขียวที่เป็นผงละเอียดเหมือนแป้งต้องนำมาชงด้วยการใช้แปรงตีชา มีกลิ่นหอมนวล รสชาติมีความเข้มข้นซับซ้อน รู้สึกได้ถึงความพิเศษเฉพาะตัว อูมามิชัดเจน บอดี้หนา สีน้ำมีความขุ่น ตั้งไว้นานๆจะเห็นตะกอนชัดเจน มีราคาสูงกว่าเพราะเป็นชาที่คุณภาพสูงกว่าชาเขียวทั่วไปในหลายๆด้านเพราะมีกระบวนการผลิตที่ซับซ้อน ส่วนชาเขียวทั่วๆไปจะเป็นเศษใบชาแห้งหั่นหยาบๆ ชงโดยใช้ถุงกรองชา กลิ่นยังมีความเป็นกลิ่นดินกลิ่นใบหญ้าเหมือนมัทฉะ แต่ไม่หอมนวลเท่า รสชาติจะมีความฝาดเฝื่อน บอดี้เบาบาง สีน้ำออกใสๆไม่ค่อยมีตะกอน ราคาไม่แพง
ประโยชน์มัทฉะและชาเขียว
อ่านมาถึงตรงนี้แล้วหลายๆคนน่าจะทราบแล้วว่ามัทฉะก็คือชาเขียวชนิดหนึ่งที่อาจจะมีสารอาหารบางอย่างมากกว่าชาเขียวทั่วๆไปเนื่องจากคุณภาพชาและกรรมวิธีการผลิต เช่น สารแอล-ธีอะนิน ที่ช่วยเรื่องลดความเครียด ผ่อนคลาย หรือ คลอโรฟิลล์ ที่ช่วยดีท็อกซ์ร่างกายขับสารพิษในเลือด ส่วนคุณประโยชน์อื่นที่เหมือนกันโดยรวมจะมีดังนี้
- แหล่งสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยอายุยืนยาว ซึ่งมีฤทธิ์ต่อต้าน ลดการอักเสบ ลดสัญญาณแห่งวัย เช่น รอยย่น รอยเหี่ยว ริ้วรอย
- ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล เมื่อไขมันในหลอดเลือกลดลงก็จะลดความเสี่ยงของโรคหัวใจ ส่งเสริมให้หัวใจและหลอดเลือดแข็งแรง
- ควบคุมน้ำหนัก สารเคเทชินช่วยเพิ่มอัตราการเผาผลาญแคลอรี่ได้มากขึ้น เช่นขณะออกกำลังกายหรือหลังจากนอนแล้ว แต่ชาเขียวที่ปรุงแต่งด้วยนมและน้ำตาลไม่ส่งผลดีต่อการลดน้ำหนัก
- เพิ่มความจำ บรรเทาความวิตกกังวล สารแอล-ธีอะนีน จะช่วยลดความวิตกกังวลและความเครียดทำให้ผ่อนคลายและมีสมาธิมากขึ้นส่งผลให้มีความจำที่ดีขึ้น
- ป้องกันโรคมะเร็ง แม้ยังไม่มีงานวิจัยที่ชัดเจน แต่ในประเทศที่มีการบริโภคชาเขียวสูง อัตราการเกิดมะเร็งบางชนิดมีแนวโน้มลดลง เช่น มะเร็งเต้านม ลำไส้ใหญ่ หลอดอาหาร ปอด ต่อมลูกหมาก และมะเร็งตับ
- ป้องกันโรคเบาหวานประเภท 2 ช่วยลดภาวะการดื้ออินซูลินได้ อินซูลินคือฮอร์โมนที่ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในร่างกายให้ปกติ
ข้อควรระวังในการดื่มมัทฉะและชาเขียว
แม้จะมีคุณประโยชน์ไม่น้อย แต่ถ้าหากนำไปรับประทานอย่างไม่ถูกต้องก็อาจทำให้เกิดโทษต่อร่างกายได้ ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ข้อที่ควรระวังในการดื่มมัทฉะและชาเขียวมีดังนี้
- ไม่ควรดื่มตอนที่ท้องว่างในตอนเช้าเพราะชาเขียวขับน้ำย่อยออกมามากส่งผลให้มีกรดในกระเพาะมากไป ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ได้ และคาเฟอีนจะขับน้ำตอนที่ท้องว่างทำให้ร่างกายอาจขาดน้ำ อาจทำให้สมองเบลอได้
- การดื่มในปริมาณที่มากไปอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ใจสั่น นอนไม่หลับ
- ชาเขียวที่คนนิยมดื่มกันมักจะปรุงด้วยนมและน้ำตาลซึ่งถ้ารับประทานเข้าไปมากๆอาจส่งผลเสียต่อร่างกายแทน หากต้องการดื่มชาเขียวเพื่อสุขภาพแนะนำว่าไม่ควรเติมนมและน้ำตาล โดยโปรตีนในนมจะทำให้สูญเสียคุณค่าทางอาหารในใบชาไป อาจจะไม่ทั้งหมดแต่มันก็ลดคุณประโยชน์ของชาลง
- คนที่มีโรคหัวใจควรงดดื่ม เพราะคาเฟอีนจะทำให้ใจเต้นผิดจังหวะได้
- คนท้องสามารถรับคาเฟอีนได้ไม่เกิน 200 กรัม/วัน มัทฉะ 1 แก้วจะมีคาเฟอีนประมาณ 60-80 มล. แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นหากต้องการไปซื้อเครื่องดื่มมัทฉะโดยเฉพาะมัทฉะนมตามคาเฟ่ชามาดื่มควรจะต้องระมัดระวัง เพราะแต่ละร้านใช้ปริมาณผงมัทฉะในการชงต่อแก้วไม่เท่ากันตามแต่สูตรของร้าน ซึ่งอาจเสี่ยงได้รับคาเฟอีนสูงเกินไปได้แม้ว่าจะดื่มแค่ 1 แก้ว
- ปริมาณคาเฟอีนในชาเขียว 1 แก้ว ถ้าเทียบกันกาแฟ 1 แก้ว อาจมีปริมาณคาเฟอีนน้อยกว่ากาแฟก็จริง แต่นั้นก็เพราะว่ากาแฟ 1 แก้วใช้ปริมาณผงกาแฟชงเยอะกว่า ซึ่งถ้าเปรียบเทียบผงกันแบบกรัมต่อกรัม ปริมาณผงชาเขียว 1 กรัมจะมีคาเฟอีนมากกว่ากาแฟ 1-2 เท่า จึงควรระวังเรื่องการดื่มชากี่แก้วต่อวันเพื่อไม่ให้ได้รับคาเฟอันมากเกิน
- คาเฟอีนในชาเขียวจะออกฤทธิ์ไม่เหมือนกับกาแฟ ซึ่งกาแฟใช้เวลาเข้าสู่ร่างกาย 15 นาที และจะออกฤทธิ์ไปอีก 2-3 ชม. จึงเป็นการดื่มแล้วออกฤทธิ์ทันที แต่ชาเชียวนั้นมีสารที่เรียกว่า แอล-ธีอะนิน ซึ่งเป็นตัวสกัดให้คาเฟอีนออกฤทธิ์ได้ช้าลง ค่อยเป็นค่อยไป แม้ปริมาณคาเฟอีนในชาเขียว 1 แก้วจะน้อยกว่ากาแฟแต่ก็ออกฤทธิ์ได้นานถึง 4-6 ชม. ฉะนั้นใครที่ดื่มชาเขียวแล้ว 1-2 ชม. แรกรู้สึกว่าไม่ค่อยได้ผล จึงดื่มเพิ่มอีกแก้วนั้น ให้ระมัดระวังเพราะจะยิ่งได้รับคาเฟอีนเยอะขึ้นไปอีก ทำให้เกิดอาการมึนๆ เวียนหัว คลื่นไส้ได้
- การดื่มชาเขียวกับยาบางชนิด ในใบชาเขียวจะมีสารแคทีชินซึ่งอาจมีผลต่อการดูดซึมของยาในร่างกาย ควรปรึกษาแพทย์ก่อนดื่มชาเขียวเป็นประจำหากคุณกำลังรับประทานยา
คำถามที่พบบ่อย
มัทฉะมีคาเฟ่อีนเยอะไหม
มัทฉะ 1 กรัม มี คาเฟอีนประมาณ 32 มิลลิกรัม มัทฉะที่นิยมดื่มกันโดยมากเป็นมัทฉะลาเต้ ซึ่งจะใช้ผงมัทฉะประมาณ 5 กรัม ดังนั้นมัทฉะลาเต้ 1 แก้วจะมีคาเฟอีนประมาณ 160 มิลลิกรัม
มัทฉะดื่มได้กี่แก้วต่อวัน
- ปริมาณคาเฟอีนที่แนะนำต่อวันคือไม่เกิน 300-400 มิลลิกรัม มัทฉะ 1 กรัม มี คาเฟอีนประมาณ 32 มิลลิกรัม
- มัทฉะเพียว 1 แก้ว ใช้ผงมัทฉะ 2 กรัม (คาเฟอีน 64 มก.) มัทฉะลาเต้ 1 แก้ว ใช้ผงมัทฉะ 5 กรัม (คาเฟอีน 160 มก.) ดังนั้น มัทฉะลาเต้ควรดื่มไม่เกินวันละ 2 แก้ว ส่วนมัทฉะเพียวแม้จะดื่มได้หลายแก้วต่อวัน แต่ปกติแล้วคาเฟอีนจากชาเขียวจะออกฤทธิ์ยาวนานประมาณ 4-6 ชั่วโมง ดังนั้นการดื่มวันละ 2 แก้วก็เพียงพอแล้ว
มัทฉะควรดื่มเวลาไหน
- ในตอนเช้าหลังมื้ออาหาร เพราะคาเฟอีนในมัทฉะออกฤทธิ์ได้นาน 4-6 ชม. ช่วยกระตุ้นประสาททำให้ตื่นตัวได้ดี และสารแอล-อะธีนิน จะช่วยให้ผ่อนคลายและมีสมาธิมากขึ้น
- ควรดื่มก่อน/หลังมื้ออาหาร ไม่ควรดื่มขณะกินอาหารเพราะสารบางตัวในใบชาจะยับยั้งการดูดซึมของอาหาร ทำให้ไม่ได้รับสารอาหารครบถ้วน ดีที่สุดควรดื่มหลังอาหารอย่างน้อย 1-2 ชม. จะช่วยกระตุ้นการเผาผลาญได้ดี
- ดื่มก่อนไปออกกำลังกายสัก 30 นาที จะช่วยเพิ่มการเผาผลาญไขมันได้ดีขึ้น ออกกำลังกายได้อึดขึ้น
- ดื่มก่อนนอนประมาณ 2 ชม.จะช่วยเผาผลาญไขมันออกไปขณะหลับ ช่วยให้ลดน้ำหนักได้
สรุปส่งท้าย
อ่านมาถึงตรงนี้แล้วเราก็ได้เข้าใจแจ่มแจ้งสักที ว่ามัทฉะกับชาเขียวนั้นไม่ใช่ชาตัวเดียวกับแม้ว่าจะเป็นชาเขียวเหมือนกัน สำหรับมือใหม่ที่เพิ่งหัดดื่มชา เพิ่งก้าวเข้ามาในโลกของชา ก็จะได้เข้าใจความต่างของมัทฉะและชาเขียวที่ยังค่อนข้างมีการเข้าใจผิดอยู่เรื่อยๆไม่หมดไป และอาจจุดประกายเริ่มต้นในการทำความรู้จักกับโลกของชาและประเภทของชา รวมไปถึงประโยชน์ของชาสำหรับสายเฮลตี้มากขึ้น