รู้จัก อุปกรณ์ชงมัทฉะ แบบฉบับญี่ปุ่นดั้งเดิม มีอะไรบ้าง เลือกใช้แบบไหนดี
สำหรับคอมัทฉะมีไม่น้อยที่ดื่มมัทฉะมาสักระยะแล้ว จะเริ่มจริงจังกับการดื่มมัทฉะมากขึ้น เริ่มศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับชามัทฉะ และก็มีอีกไม่น้อยที่จะเริ่มมองหาวิธีชงเพื่อดื่มเองอยู่ที่บ้านหรือจะชงใส่แก้วพกพาออกไปดื่มที่ทำงานก็สะดวก แต่ยังไม่รู้ว่าอุปกรณ์ชงมัทฉะนั้นต้องมีอะไรบ้าง เลือกใช้แบบไหนดี หรือมีวิธีชงอย่างไร ดูวิธีชงชามัทฉะเพิ่มเติมที่นี่ วันนี้เราจะมาแนะนำอุปกรณ์สำหรับชงมัทฉะกัน
1. แปรงตีมัทฉะ (Chasen)
ถือเป็นอุปกรณ์ที่สำคัญที่สุดในการตีมัทฉะ นับว่าขาดไม่ได้เลยทีเดียว แปรงตีมัทฉะนั้นมี 2 แบบ คือแบบไม้ไผ่และแบบพลาสติกขึ้นอยู่กับการเลือกใช้งาน แปรงไม้ไผ่นั้นเหมาะกับการชงมัทฉะกับน้ำ ไม่เหมาะกับการตีนมเพราะทำความสะอาดยาก นมที่ติดอยู่ที่ซี่แปรงนั้นจะบูดเน่าทำให้แปรงมีกลิ่น แนะนำแปรงไม้ไผ่ที่มีซี่ 60-70 ซี่ (ยิ่งซี่เยอะยิ่งตีให้ละลายและขึ้นฟองง่าย) ซึ่งเหมาะชงได้ทั้งชาข้น (Koicha) และชาบาง (Usucha) และเหมาะกับมือใหม่ สำหรับแปรงพลาสติกนั้นจะสามารถถอดชิ้นส่วนล้างน้ำยาได้ ทนทานกว่า เหมาะตีกับนมแนะนำให้เลือกแปรงที่ยืดหยุ่นไม่แข็งเกินไป ซี่น้อยกว่าไม้ไผ่อาจตีให้ละลายและขึ้นฟองยากกว่า แต่สามารถตีแบบบดๆได้
ทั้งนี้ไม้ไผ่ก่อนใช้ควรลวกน้ำร้อนก่อนใช้งานเพื่อให้ไม้ไผ่อ่อนตัวลงก่อนใช้ตี ไม่เช่นนั้นไม้ไผ่จะหักง่ายอายุการใช้งานสั้น หลังใช้เสร็จไม่ควรล้างด้วยสบู่หรือน้ำยาล้างจาน ให้จุ่มน้ำอุ่นแค่บริเวณที่โดนมัทฉะก็พอ สัก 2-3 ครั้ง ไม่ต้องขัด เสร็จแล้วนำไปเสียบกับแท่นวางแปรงมัทฉะไว้ให้แห้ง ควรเก็บไว้ในที่ที่อุณภูมิพอดี ไม่ร้อน ไม่เย็น อากาศถ่ายเทสะดวก หลีกเลี่ยงความชื้น เพราะอาจทำให้ไม้ไผ่ขึ้นรา
2. ถ้วยชงมัทฉะ (Chawan)
อีกหนึ่งอุปกรณ์ที่ต้องมี ถ้วยจะออกแบบมาสำหรับตีมัทฉะโดยเฉพาะ มีปากกว้าง ก้นกว้าง ไม่ให้มัทฉะกระเซ็นเลอะเทอะเวลาตี นิยมใช้ถ้วยที่ทำจากเซรามิคมีทั้งแบบมีปากเทและไม่มีปากเท แบบมีปากนั้นเอาไว้ตีแล้วเทใส่ภาชนะดื่ม แบบไม่มีปากนั้นไว้ใช้ตีเสร็จแล้วสามารถยกดื่มจากถ้วยตีได้เลย ถ้วยตีมัทฉะที่ดีนั้นไม่ใช่ถ้วยที่มีราคาแพง แต่เป็นถ้วยที่ดีกับทั้งคนดื่มและคนชง คือปากถ้วยเรียบ โค้งมน ไม่สากหรือมีส่วนแหลมคม ยกดื่มไม่รู้สึกหยาบกระด้าง พื้นผิวด้านในถ้วยเรียบ ไม่ขรุขระ ตีมัทฉะง่ายไม่เป็นก้อนติดอยู่ตามซอกหลืบ ขนาดพอดีถือ 2 มือ ไม่เล็ก ไม่ใหญ่ เกินไป
3. ช้อนตักมัทฉะ (Chashaku)
เป็นอีกหนึ่งอุปกรณ์ที่ให้ประสบการณ์การชงชาและวิถีแห่งชาได้ดี แต่หากไม่สะดวกสามารถใช้ช้อนชา ช้อนกาแฟแทนได้ ช้อนตักมัทฉะนั้นทำมาจากไม้ไผ่ จึงไม่ควรโดนน้ำ เวลาตักผงมัทฉะเสร็จให้ใช้ผ้าแห้งสะอาดเช็ดผงมัทฉะออกก็พอแล้ว เพราะมัทฉะนั้นไม่มีคราบมันอะไร โดย 1 ช้อนจะตักผงมัทฉะได้ประมาณ 0.7 กรัม โดยตักไปตามปกติไม่ได้พยายามอัดหรือปั้นให้เยอะอะไร การชงน้ำจะใช้ผงมัทฉะ 2-3 กรัม ก็ตักประมาณ 3-4 ช้อนเศษๆ และการชงนมจะใช้ 5-7 กรัม ก็ตักประมาณ 7-10 ช้อน
4. แท่นวางแปรงมัทฉะ (Chasen Holder)
เป็นอุปกรณ์สำหรับเอาไว้เก็บแปรงตีชาโดยเฉพาะ ให้รักษาทรงซี่ไม้ไผ่ไว้ ไม่เสียรูป ถ้าหากซี่ไม้ไผ่ไม่ค่อยกางจะทำให้ตีมัทฉะได้ไม่ดี ขึ้นฟองยาก ทำมาจากเซรามิค มีตัวฐานมั่นคง ล้างทำความสะอาดได้ตามปกติ เวลาเก็บแปรงตีชาที่เพิ่งล้างเสร็จจะช่วยให้น้ำไม่ไหลลงไปที่ด้ามจับ
5. กระชอนร่อนผงมัทฉะ (Matcha Sifter)
อีกหนึ่งอุปกรณ์ที่สำคัญไม่แพ้กัน ใช้สำหรับร่อนผงมัทฉะที่ตักมาใส่ลงถ้วยตี เพื่อไม่ให้ผงจับตัวกันเป็นก้อน ตีง่ายละลายเร็ว ทำให้ไม่ต้องตีนานเพราะจะทำให้กลิ่นความหอมมัทฉะเริ่มระเหยเป็นไอออกไปเรื่อยๆ และน้ำเริ่มหายร้อน ทำให้ไม่อร่อยถ้าจะชงเพื่อดื่มร้อนๆ ความละเอียดตาข่ายไม่ต้องละเอียดมาก ใช้ระดับเดียวกับที่ใช้ร่อนแป้งทำเค้ก ทำขนม ที่ร่อนผงมัทฉะนั้นมีหลายแบบ มีทั้งแบบที่มีถ้วยเล็กๆรองก้นกระชอน และแบบที่เป็นกระป๋องสแตนเลสมีน็อตไว้ที่ตาข่ายสำหรับช่วยร่อนผงมัทฉะ ซึ่งมีราคาสูง
6. ตาชั่งดิจิตอล (Digital scales)
เป็นอุปกรณ์ที่มีหรือไม่มีก็ได้ ถ้าหากจะใช้ก็แนะนำรุ่นที่ไม่แพงมาก ราคาไม่กี่ร้อยบาทก็เพียงพอแล้ว ใช้สำหรับตวงผงมัทฉะและตวงปริมาณน้ำหรือนมที่ใช้ชง ทำให้ได้ปริมาณเหมือนเดิมทุกครั้งที่ชง รสชาติคงที่เหมือนเดิมทุกครั้ง ไม่มีการเดี๋ยวจืดไปบ้างเดี๋ยวเข้มไปบ้างจากการที่ต้องกะปริมาณเอาเอง แนะนำให้ปรับหน่วยน้ำหนักเป็นกรัม
อุปกรณ์ ชงมัทฉะ ทางเลือกสำหรับคนที่ไม่ต้องการชงแบบดั้งเดิม
มีคอมัทฉะอีกไม่น้อยที่อาจจะไม่สะดวกซื้ออุปกรณ์สำหรับตีมัทฉะหลายๆชิ้น ที่อาจจะชงดื่มได้แค่ที่บ้าน หรืออาจไม่ได้ต้องการความพิถีพิถันอะไรมาก และต้องการใช้เวลาชงมัทฉะให้น้อย ไม่ซับซ้อน อุปกรณ์น้อยชิ้นและดูแลรักษาง่าย พกพาออกไปชงที่ไหนก็สะดวก ตามไลฟ์สไตล์คนยุคใหม่ เพียงแค่มี ผงมัทฉะ ช้อนตวง นม น้ำ แก้วน้ำพกพา อุปกรณ์ชงมัทฉะทางเลือก 1 ชิ้น ก็สามารถอร่อยได้ทุกที่ที่ต้องการ แบบที่ทดแทนกันได้ชงออกมาได้รสชาติที่ไม่ต่างจากวิธีชงดั้งเดิม ก็มีอุปกรณ์ชงมัทฉะทางเลือกดังนี้
1. เครื่องปั่นแบบพกพา (Portable Blender)
เครื่องปั่นแบบพกพามีขนาดไม่ต่างจากแก้วน้ำพกพามากนัก พกไปได้ทุกที่ ดูแลรักษาและใช้งานง่าย ใช้เวลาน้อยและปั่นได้ละเอียดผงมัทฉะไม่เป็นก้อน เหมาะสำหรับคนที่ต้องการความเร็วแต่ก็มีคุณภาพสูง ให้รสชาติที่ไม่ต่างจากการชงแบบดั้งเดิมมาก เหมาะกับไลฟ์สไตล์มินิมอลหรือไลฟ์สไตล์คนที่ชอบเดินทางมากๆ มีตั้งแต่ราคาประมาณ 500 กว่าบาทขึ้นไป แนะนำสเปคมาตรฐาน ความเร็วมอเตอร์ 18,000 รอบ/นาที กำลังไฟฟ้า 45 วัตต์
2. เครื่องตีฟองนม (Milk Frother)
และอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับตีชามัทฉะ สำหรับคนที่อาจจะชงกาแฟดื่มเองอยู่ที่บ้านอยู่แล้ว มีเครื่องตีฟองนมสำหรับท็อปปิ้งคาปูชิโน่ หรือแม้ไม่ได้ชงกาแฟเองอยู่บ้านก็สามารถใช้เครื่องตีนมชงมัทฉะได้ โดยประสิทธิภาพอาจด้อยกว่าเครื่องปั่นพกพาหน่อย อาจต้องใช้เวลาตีนานเพื่อให้ผงหายจับตัวกันเป็นก้อน สามารถตีในแก้วดื่มได้เลย เวลาชงให้แบ่งตี 2 ครั้ง ครั้งแรกใส่นมหรือน้ำปริมาณน้อยๆลงไปตีก่อนสัก 50-60 ml. ผงมัทฉะจะละลายและหายจับตัวเป็นก้อนง่ายกว่า พอตีละลายดีแล้วก็เทส่วนที่เหลือลงไปตีต่ออีกหน่อยก็เป็นอันเสร็จพร้อมดื่ม ราคาไม่ห่างกับเครื่องปั่นพกพามากนัก มีขนาดเล็กกว่า พกพาง่าย แนะนำรุ่นที่มีสายปลั๊กเสียบไฟจะให้กำลังไฟที่แรงกว่า สเปคมาตรฐาน ความเร็วรอบ 16,000 รอบ/นาที กำลังไฟ 30 วัตต์
3. แก้วเชคเกอร์ (Shaker)
หากใครอยากชงชามัทฉะเองแบบสายประหยัดและสะดวกสุดๆ ก็สามารถใช้แก้วเชคเกอร์เขย่าชงเอาได้เช่นกัน หากไม่ได้ซีเรียสกับประสิทธิภาพการชงมากนัก เพราะผงมัทฉะจะจับตัวเป็นก้อน ละลายยากกว่า ยิ่งถ้าเป็นผงมัทฉะเพียวที่ไม่ได้ผสมนมผงกับน้ำตาลแล้ว จะยิ่งหายจับตัวเป็นก้อนยาก ก็จะเหมาะกับผงมัทฉะผสมนมผงและน้ำตาลมากกว่า ถือว่าเป็นอุปกรณ์ที่สะดวกที่สุดเพราะเป็นได้ทั้งอุปกรณ์ชงและแก้วดื่มพร้อมพกพาไปในตัว