มัทฉะของแท้ มัทฉะของปลอม ดูอย่างไร

ผงมัทฉะของแท้ ของปลอม มัทฉะคุณภาพสูง คุณภาพต่ำ ดูอย่างไร

ด้วยอิทธิพลจากวัฒนธรรมการดื่มมัทฉะและชาเขียวจากญี่ปุ่น จึงเกิดความนิยมไปทั่วโลกรวมไปถึงประเทศไทยโดยเฉพาะมัทฉะ ทำให้มีแหล่งซื้อขายมัทฉะมากมายเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทั้งจากไทยและญี่ปุ่น ด้วยความที่ญี่ปุ่นนั้นขึ้นชื่อเรื่องคุณภาพและความใส่ใจ ทำให้มีผู้จำหน่ายหลายๆรายต่างติดฉลากผลิตภัณฑ์ว่าเป็นมัทฉะที่ผลิตจากญี่ปุ่น เป็นมัทฉะเกรดพรีเมี่ยมหรือแม้แต่มัทฉะ Ceremonial Grade แต่เราจะรู้ได้อย่างไรว่ามัทฉะที่เราซื้อมานั้นเป็นมัทฉะแท้ๆหรือไม่ วันนี้เราจะมาบอกถึงการดูมัทฉะแท้หรือปลอม มีวิธีดูมัทฉะที่มีคุณภาพและไม่มีคุณภาพอย่างไรดังนี้

  • สีผงชา สีเป็นสิ่งที่บอกถึงคุณภาพมัทฉะได้เป็นอย่างดี เป็นอย่างแรกที่ต้องดู มัทฉะคุณภาพสูงหรือมัทฉะที่ยังไม่เสื่อมคุณภาพจะมีสีเขียวสดใส เขียวหยก เพราะมีการดูแลที่ดี และเนื่องจากการผลิตคลอโรฟิลล์ที่มากขึ้นจากการถูกคลุมแสงไว้ก่อนเก็บเกี่ยว 21 วัน ส่วนมัทฉะที่คุณภาพต่ำนั้นจะมีสีเขียวหม่น ออกเหลืองๆ อาจจะมาจากการดูแลที่ไม่ดี ตั้งแต่กระบวนการปลูกไปจนถึงการผลิต มักจะเป็นมัทฉะเกรดที่เอาไว้ใช้ทำขนมและอาหาร มัทฉะคุณภาพที่ดีส่วนใหญ่จะเก็บไว้ได้ 6 เดือน และหลังจากเปิดแล้วควรใช้ให้หมดภายใน 4 เดือน หากเก็บไว้นานกว่านั้นสีจะเริ่มซีดลง อ่อนลง และกลิ่นหอมกับรสชาติจะจางลง
สีของผงชามัทฉะ
  • สีตอนเทน้ำใส่ผงชา ให้ลองตักผงมัทฉะใส่ถ้วยขาว แล้วเทน้ำอุณหภูมิห้องใส่มัทฉะให้พอท่วม หากเป็นมัทฉะแท้น้ำจะออกมาเป็นสีโทนเดียวกับสีผงมัทฉะ ไม่มีสีแปลกๆปรากฏเป็นจุดๆฟ้าๆอยู่ แต่หากเป็นมัทฉะปลอมที่ย้อมสีมา เวลาเทน้ำลงแล้วไม่ต้องคน จะปรากฏจุดสีฟ้าๆอยู่ในน้ำชาเขียวที่ยังใสๆอยู่
มัทฉะผสมสี ชาเขียวผสมสี
ที่มาภาพจากเพจ TUCK the CHEF
  • เนื้อสัมผัส มัทฉะคุณภาพดีจะมีเนื้อที่เนียนละเอียดเหมือนกับแป้ง ไม่มีความสากหยาบกระด้างแบบเม็ดทราย สามารถทดสอบใช้นิ้วป้ายผงชากับกระดาษขาวได้ จะทำให้เห็นเนื้อผงชาที่ปาดยาวมาอย่างเรียบเนียนเหมือนกับแป้งบลัชออนที่เป็นเครื่องสำอาง ไม่เจอรอยแซมสีขาวขาดตอน เป็นชาที่บดละเอียด ชาที่บดไม่ละเอียดจะเป็นชาคุณภาพต่ำอาจไม่ได้บดด้วยเครื่องบดโม่หิน เนื้อไม่ละเอียดปาดแล้วเห็นรอยไม่สม่ำเสมออาจมีส่วนผสมอื่นๆ เช่น น้ำตาล
ผงชามัทฉะแท้
  • กลิ่นและรส ชามัทฉะคุณภาพสูงจะมีกลิ่นหอม กลิ่นชัดเจน จะมีความเป็นหญ้าหรือจะเป็นถั่ว แล้วแต่แหล่งปลูกหรือสายพันธุ์ แต่โน้ตจะชัดเจน มีความหวานหน่อยๆ มีความอูมามิ รสชาติมีความละเอียดอ่อน ไม่มีความขมและฝาด ชาคุณภาพต่ำกว่าจะมีความขมและฝาดมากหน่อย กลิ่นชาจะไม่ชัดเจน ไม่ค่อยหอม
  • ตีขึ้นฟองง่ายกว่า ทั้งนี้แปรงไม้ไผ่ตีชาจะต้องมีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ ไม่มีซี่หักเยอะ และรูปทรงยังกางออกอยู่ เพราะจะมีผลต่อการขึ้นฟองได้ยากง่ายต่างกัน ชาเกรดสูงๆอย่าง Ceremonial Grade นั้น เวลาตีชาด้วยแรงที่พอดีจะขึ้นฟองง่าย หรือเกรดสำหรับทำอาหารเครื่องดื่มทั่วไป (Culinary Grade) ที่พรีเมี่ยมหน่อยก็ยังตีขึ้นฟองได้ง่ายอยู่ แต่ผงชาคุณภาพต่ำจะตีขึ้นฟองได้ยากกว่าแม้ตัวแปรงไม้ไผ่จะอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์
ตีชามัทฉะ
  • รีวิวจากลูกค้า อีกหนึ่งตัวช่วยก่อนตัดสินใจได้อย่างดีก็คือ Feedback จากลูกค้าที่เคยซื้อไปใช้แล้วกลับมารีวิว พูดถึงคุณภาพ วิธีการชง รสชาติเป็นอย่างไร หรือใช้ทำอะไรได้อีกบ้าง หรือลูกค้าบางคนอาจมีข้อมูลรายละเอียดผลิตภัณฑ์ของแบรนด์นั้นๆ เช่น เป็นมัทฉะเพียวแท้ 100% หรือมีส่วนผสมของนมผงหรือน้ำตาลหรือไม่ ก็นับว่าเป็นประโยชน์อย่างมาก อย่าลืมเช็คฟีดแบ็คให้มากเท่าที่จะทำให้มั่นใจพอ
  • แหล่งที่มา อย่าลืมเช็คแหล่งที่มาให้ชัดเจนว่าผงมัทฉะนั้นมาจากเมืองไหนของญี่ปุ่น ญี่ปุ่นนั้นมีเมืองที่ขึ้นชื่อเรื่องชาเขียวหลักๆอยู่หลายเมือง เช่น เมืองอูจิ (Uji) จากจังหวัดเกียวโต (Kyoto), จังหวัดฟุคุโอกะ (Fukuoka) ที่อยู่ในภูมิภาคคิวชู (Kyushu), จังหวัดชิสึโอกะ (Shizuoka), จังหวัดคาโกชิมะ (Kahoshima) ภูมิภาคคิวชูและเมือง นิชิโอะ (Nishio) ในจังหวัดไอจิ (Aichi) เป็นต้น
แหล่งปลูกชามัทฉะ
  • ราคา อย่าลืมเช็คราคาจากหลายๆแหล่ง เปรียบเทียบราคาในตลาดว่าของเรานั้นถูกหรือแพงเกินไป ซึ่งแต่ละเกรดก็จะมีราคาที่แตกต่างกัน หรือแม้แต่ชานำเข้าที่มีแหล่งที่มาจากญี่ปุ่นก็อาจจะมีราคาถูกกว่าแหล่งที่ผลิตเองในไทยเองหลายเท่า การเทียบราคาจากเกรดเดียวกันจะทำให้เห็นเรทราคาได้ชัดเจน

สรุปส่งท้าย

โดยสรุปแล้ววิธีดูว่ามัทฉะนั้นมีคุณภาพหรือไม่สามารถดูได้จาก สี เนื้อสัมผัส กลิ่นและรส ความยากง่ายในการตีขึ้นฟอง และเพื่อความมั่นใจอย่าลืมเช็ครีวิว แหล่งที่มาและเปรียบเทียบราคาด้วย นอกจากนี้แล้วหากลงลึกไปอีกหน่อยสำหรับผู้ที่มีความรู้เรื่องมัทฉะหรืออาจมีโอกาสได้ไปเยี่ยมชมถึงแหล่งผลิตที่ญี่ปุ่น ก็จะเป็นเรื่องของกระบวนการผลิตซึ่งก็สามารถบอกถึงคุณภาพมัทฉะได้เช่นกัน เช่น เรื่องของคุณภาพการคลุมแสงก่อนเก็บเกี่ยว การดูแลต้นชาจากสภาพอากาศต่างๆ การเก็บเกี่ยว รายละเอียดกระบวนการผลิตเช่น การนึ่ง การคัดแยกก้านใบและเส้นใยออกจากใบชา การบดมัทฉะ คลังเก็บและการบรรจุแพ็ค เป็นต้น

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง